top of page
DSC00021.jpg

ประวัติ

ประวัติวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร

     วัดเขมาภิรตาราม เดิมเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างไปนาน จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดนี้คงมีชื่อว่า “วัดเขมา” มาแต่ก่อน ทำให้มีการสันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า พระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงส่งสินค้าโดยทางเกวียน เกวียนมาพักในที่แห่งนี้ พระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดีที่ ๑) จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น เรียกชื่อว่า “วัดเข็นมา” ซึ่งเพี้ยนมาเป็นวัดเขมาในภายหลัง  บ้างก็ว่า เป็นเพราะเขมรเป็นผู้สร้าง จึงมีนามว่า “วัดเขมา” คือมาจากเขมะ หรือเขมรัฐนั่นเอง บ้างก็ว่า อาจมาจากคำว่า “เขมํ” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า ความเกษมสุข ความพ้นจากเครื่องห่วงใย ความปราศจากเครื่องกังวล

     อย่างไรก็ดี เราอาจสรุปได้ว่า วัดเขมาฯ นั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี พระอัครมเหสี และเป็นพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และได้ตรัสขอวัดเขมาฯ จากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์วังหน้า ในรัชกาลที่ ๒ มาเป็นวัดในพระบรมราชินูปถัมภ์สำหรับกฐินในกรมของพระองค์ และได้โปรดฯ ให้ขยายพระอุโบสถโดยการสร้างใหม่ครอบพระอุโบสถหลังเก่า และโปรดฯ ให้หล่อพระประธานองค์ใหม่ สวมทับพระประธานองค์เก่าไว้ภายใน และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปทุกองค์จนสำเร็จ โปรดฯ ให้ก่อกำแพงรอบพระอุโบสถ มีพระเจดีย์ทั้งสี่ทิศ แล้วทรงสร้างศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง  หน้าพระอุโบสถ  และได้ทำการฉลองสมโภชการปฏิสังขรณ์ทั้งหมด ในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ การปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์ถึง ๒ ครั้ง 

 

     ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้รื้อพระตำหนักแดงทั้งหมู่ ไปถวายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งขณะนั้นทรงย้ายไปประทับกับพระราชโอรสองค์น้อย คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี  และทรงชักชวนให้กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ ทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์รัตนาราม เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม อันเป็นที่ประทับในขณะนั้น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ จึงทรงขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยปฏิสังขรณ์วัดหงส์ฯ ด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไม่ทรงรับช่วย แต่รับสั่งว่าจะปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯ ฉลองพระเดชพระคุณแทน เมื่อกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้โปรดฯ ให้รื้อไปปลูกถวายเป็นกุฏิพระราชาคณะที่วัดโมลีโลกยาราม

 

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว จึงได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯ เป็นการใหญ่  และโปรดฯ ให้เพิ่มสร้อย “ภิรตาราม” ต่อท้ายนามวัด เป็น “วัดเขมาภิรตาราม” ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน และในครั้งนี้ได้ทรงจัดซื้อที่สวนถวายเพิ่มเติม และขุดคูรอบวัด ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมในพระอุโบสถโดยสมบูรณ์ ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ล้อมพระประธานเพิ่มเติม ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่ด้านหลังพระอุโบสถ  แล้วโปรดฯ ให้ย้ายพระเจดีย์เดิมของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ที่อยู่มุมทั้งสี่ของพระอุโบสถให้ไปตั้งอยู่ในมุมพระมหาเจดีย์ด และทรงสร้างพระวิหารน้อย ๒ หลัง ที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นที่ไว้พระพุทธรูป ทรงสร้างศาลาการเปรียญใหม่เป็นตึก รวมทั้งกุฏิทรงไทยที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ หอพระไตรปิฎก หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพาน ศาลา โรงไฟ ฯลฯ

 

ในปีพ.ศ. ๒๓๙๗ ได้โปรดฯ ให้นิมนต์พระภิกษุจากวัดไชยฉิมพลีไปอยู่วัดเขมาฯ ๑๑ รูป ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดเขมาฯ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย

 

ในปีพ.ศ. ๒๔๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้อัญเชิญพระอินทร์แปลง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จากพระราชวังจันทรเกษมพระนครศรีอยุธยา ลงมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดเขมาฯ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบสุโขทัย ปัจจุบันก็ยังคงประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ หน้าพระประธาน และพระอสีติมหาสาวก ในการประดิษฐาน พระพุทธรูปองค์นี้ ได้โปรดฯ ให้ละครข้างในไปเล่นพร้อมละครฝรั่ง และเพลงละคร ครั้งนั้นใช้เล่นประกอบกับปี่พาทย์ นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดฯ ให้ย้ายพระตำหนักแดง จากวัดโมลีโลกยารามมาปลูกขึ้นไว้ ทางทิศใต้ของพระอุโบสถอีกด้วย พระตำหนักแดงนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางองค์น้อย ในพระบรมมหาราชวัง ทาสีแดงจึงเรียกว่า พระตำหนักแดง คู่กับพระตำหนักเขียว ของสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดีพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ครั้นต่อมา สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ พระธิดาจึงได้ประทับต่อมา

ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ย้ายพระตำหนักแดง จากวัดโมลีโลกยาราม ไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาภิรตาราม และทรงสร้างกุฏิตึกถวายแทน ปัจจุบันพระตำหนักแดงก็ยังคงอยู่ที่วัดเขมาฯ 

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดฯ ให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร ซึ่งเดิมอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เดิมทีเดียว รัชกาลที่ ๒ โปรดฯ ให้สร้างเป็นพระตำหนักไม้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดฯ ให้รื้อแก้ไขเป็นตึกปลูกขึ้นใหม่ในระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญกับบริเวณพระพุทธนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง (สวนศิวาลัยปัจจุบัน) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดฯ ให้ย้ายมาปลูกไว้ทางด้านเหนือของวัดเขมาฯ ปลูกตามแบบเดิมมีเสาสูงยันชายคาอยู่รอบตึก ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศ

 

พระอุโบสถในปัจจุบันเป็นแบบสมัยรัชกาลที่ ๔ อย่างแท้จริง คือภายในมีรูปวาดเป็นแบบจิตรกรรมไทยผสมผสานกับศิลปะจีน และยุโรป ประกอบไปด้วย รูปเทพชุมนุม รูปกระถางต้นไม้เป็นแบบจีน และดอกไม้ที่เป็นลวดลายเลียนแบบฝรั่ง ฝาผนังเบื้องหลังพระประธานเจาะเป็นช่องมีพระนอน และด้านหลังพระประธานยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดใหญ่ สมัยรัตนโกสินทร์ประทับยืนอยู่ ๒ องค์ ภาพสีที่เขียนไว้ในรัชกาลที่ ๔ ยังคงงามเด่น เพราะเหตุที่ใช้พื้นสีน้ำเงิน และลวดลายยังสดใสดีอยู่ ปัจจุบันด้านหน้าพระประธาน และพระอสีติมหาสาวก มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ซึ่งพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ภายนอกพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันออกคือด้านหลังพระประธานสร้างเป็นซุ้มจารนังยื่นออกไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ช่างปั้นพระศรีอาริยเมตไตร ไว้ เพื่อแก้เคล็ดคติความเชื่อโบราณ ที่ไม่นิยมสร้างพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก

bottom of page