โบราณสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ
โบราณสถานและปูชนียวัตถุ ที่สำคัญของวัดเขมาภิรตาราม
บริเวณวัดเขมาภิรตาราม มีปูชนียวัตถุ และโบราณสถานหลายแห่ง ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และสักการะบูชา ซึ่งประกอบไปด้วย
พระมหาเจดีย์ และพระเจดีย์ทั้ง ๔
ในชั้นเดิม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้ทรงสร้างเจดีย์ ๔ องค์ ประดิษฐานไว้ทั้ง ๔ มุม ของพระอุโบสถ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดเขมาฯ ครั้งใหญ่ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ โดยถ่ายแบบศิลปะทรงระฆังคว่ำจากกรุงศรีอยุธยาและได้เริ่มก่อรากฐาน พระมหาเจดีย์ขนาดกว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๙๗ เมื่อก่อสร้างเสร็จได้ความสูงที่ ๑๕ วา หรือ ๓๐ เมตร และได้ชะลอเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ ที่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนฯ ทรงสร้างไว้ มาอยู่ประจำมุมทั้ง ๔ ของเจดีย์องค์ใหญ่ และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากคีรีบรรพต (ภูเขาทอง) มาบรรจุไว้ที่คอระฆัง
ปริศนาธรรม เกี่ยวกับพระมหาเจดีย์ หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปจะพบว่าองค์พระมหาเจดีย์มีรูปแบบการก่อสร้างที่เฉพาะแบบจริงๆ ซึ่งพอจะไขปริศนารูปแบบการสร้างได้ดังนี้
-
ฐานของพระมหาเจดีย์ มีลักษณะเป็นชั้น ๓ ชั้น เปรียบได้กับ พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) หรือพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
-
ฐานของระฆังคว่ำ มีลักษณะ ๘ เหลี่ยม ๕ ชั้น เปรียบได้กับมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) และเบญจขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
-
ด้าน ๔ เหลี่ยมรอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปรียบได้กับ อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
-
ปล่องไฉน ๒๐ ปล่อง (รวม ๔ หัวข้อธรรมข้างต้น)
-
ภายในมีช่องทางออก ๘ ช่อง เปรียบได้กับ มรรคมีองค์ ๘
-
ภายนอกมีช่องทางเข้า ๑๐ ช่อง เปรียบได้กับ กุศลกรรมบถ ๑๐ (กายกรรม ๓ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดคำหยาบ เว้นพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ ไม่โลภ ไม่พยาบาท เห็นชอบตามคลองธรรม)
พระอุโบสถ
ในชั้นเดิมกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในรัชกาลที่ ๒ มีพระราชศรัทธา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดรากใหม่ ก่อผนังขยายออกให้กว้างกว่าเดิม และถมพื้นภายใน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นฤกษ์และทรงรับสั่งให้ช่างเข้าในกรม ก่อพระประธานองค์ใหม่สวมพระพุทธรูปองค์เก่า เพราะทรงเห็นว่าพระอุโบสถมีความกว้างขวางมากพระประธานองค์เก่ามีขนาดเล็กเกินไป ต่อจากนั้นได้มีรับสั่งให้ก่อกำแพงรอบพระอุโบสถ จนสำเร็จเรียบร้อยแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทำมหกรรมฉลองและบำเพ็ญกุศล ในปีชวด สัมฤทธิศก ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)
ครั้นเมื่อปีกุล ตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้วได้ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯ โดยให้ขุดคูรอบวัด และให้ขรัวอินโข่ง ซึ่งเป็นช่างศิลป์ที่โด่งดังในสมัยนั้นไปวาดภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ และได้ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก (พระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศ ทางด้านต่างๆ ๘๐ องค์) ล้อมพระประธาน เสร็จเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๗
สำหรับส่วนของศิลปะจิตรกรรม ภายในพระอุโบสถจะประกอบไปด้วยจิตรกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน ฝรั่ง
ศิลปะไทย ได้แก่
-
รูปเทวดาทวารบาลที่ประตู-หน้าต่าง
-
เทพชุมนุมถือดอกมณฑาทิพย์เครื่องประโคมดนตรีไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เสด็จดับขันธปรินิพพานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วด้านหลังพระอุโบสถ
-
ดอกเข็มในแจกันซึ่งแสดงถึงความเฉลียวฉลาดและหลักแหลม
ศิลปะจีน ได้แก่ แจกันจีนสีขาว มีอักษรภาษาจีนอ่านว่า “ซางฮี้” ซึ่งเป็นตัว มงคลคู่ แปลว่า มงคลอย่างยิ่ง
ศิลปะฝรั่ง ได้แก่ แจกัน มีลักษณะเป็นช่อชัยพฤกษ์
พัทธสีมา
พัทธสีมาของวัดจะมีลักษณะเป็นใบคู่ ซึ่งจะมีเฉพาะพระอารามหลวงเท่านั้น สืบเนื่องจากในสมัยก่อนพระฝ่ายอรัญวาสีและพระฝ่ายคามวาสี จะไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน ทำให้เป็นที่ลำบากในคราวที่พระฝ่ายอรัญวาสีเดินทางเข้ามาในเมือง ในกาลต่อมาพระฝ่ายอรัญวาสีและฝ่ายคามวาสี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น ทำให้มีการทำสังฆกรรมร่วมกันบ้างบางโอกาส ดังนั้นเพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีมีความสบายใจในการทำสังฆกรรม จึงได้กำหนดให้มีใบสีมาคู่ เพื่อแสดงถึงการให้ทำสังฆกรรมร่วมกัน ของพระฝ่ายอรัญวาสีและพระคามวาสี